สุดยื้อ เตรียมขึ้นราคาน้ำมันดีเซลอีก

Author:

ความคืบหน้าการกำหนดราคาขายปลีกน้ำมัน ดีเซล ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. เป็นต้นไปภายหลังครบกำหนดกรอบราคาไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่กำหนดให้ตรึงราคาขายปลีกตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.-31 ก.ค.นี้ โดยมีแนวโน้มว่าคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) จะมีการพิจารณาแนวทางการปรับขึ้นราคา น้ำมันดีเซล แบบทยอยขึ้นกรอบ 1 บาทต่อลิตร ทำให้ราคาปลายทางไปแตะที่ระดับไม่เกิน 34 บาทต่อลิตร เพื่อรักษาสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมัน ที่ปัจจุบันฐานะ ณ วันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา ติดลบ 111,595 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมันติดลบ 63,944 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ติดลบ 47,651 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลก ยังมีความผันผวนสูง แม้ช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา แนวโน้มลดลงเล็กน้อยจนกองทุนน้ำมันลดการอุดหนุนระดับ 4 บาทต่อลิตร สามารถเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันดีเซลเข้าไปสะสมในกองทุนน้ำมันสำเร็จ แต่ขณะนี้แนวโน้มกลับมาขึ้นอีกครั้ง ทำให้กองทุนน้ำมัน ต้องอุดหนุนกว่า 2 บาทต่อลิตร สถานการณ์ดังกล่าวหากไม่ปรับราคาหลังวันที่ 31 ก.ค. อาจทำให้กองทุนน้ำมัน มีสถานการณ์ติดลบรุนแรง

ขณะเดียวกัน ก่อนที่ กบน.จะพิจารณาแนวทางปรับราคา ในเดือน มิ.ย.จนถึงขณะนี้ กบน.ได้พยายามดำเนินการอีก 2 แนวทางเพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาขายปลีก แต่ด้วยสถานการณ์และปัจจัยต่างๆ พบว่าไม่น่าจะดำเนินการได้ ประกอบด้วย 1.การส่งหนังสือถึงสำนักงบประมาณ เพื่อขอใช้งบกลางปี 2567 วงเงิน 6,500 ล้านบาท แบ่งเป็น น้ำมันดีเซล 6,000 ล้านบาท และแอลพีจี 500 ล้านบาท เป็นตามที่ ครม.อนุมัติไว้ภายใต้เงื่อนไขให้ใช้กลไกกองทุนน้ำมันดูแลราคาน้ำมันและแอลพีจีก่อน แต่ได้รับการประสานอย่างไม่เป็นทางการว่างบกลางมีจำกัด อาจไม่สามารถนำมาดูแลราคาน้ำมันดีเซลและแอลพีจีได้ 2.การเสนอให้กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต ลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตดีเซลลง ในอัตราที่เหมาะสม เบื้องต้นจากท่าทีของกระทรวงการคลัง ไม่ตอบรับการลดภาษีดังกล่าว เพราะจำเป็นต้องจัดเก็บรายได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด

มีรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า จะติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าอย่างใกล้ชิดทั้งสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ 18 หมวด และสินค้าอื่นนอกเหนือจากนี้ เพราะราคาน้ำมันดีเซล เป็นต้นทุนการขนส่ง และต้นทุนการขนส่งก็เป็นหนึ่งในต้นทุนของสินค้า ซึ่งแต่ละสินค้าจะได้รับผลกระทบต่างกัน ไม่ใช่เท่ากับทุกสินค้า อย่างไรก็ตาม กรมการค้าภายในยังคงขอความร่วมมือผู้ผลิตให้ตรึงราคาขายต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากรายใดแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นไม่ไหว หากจะขอปรับขึ้นราคาก็จะพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับความเป็นธรรม และอยู่ร่วมกันได้ โดยผู้ผลิตทั้งต้นทาง และปลายทางยังสามารถผลิตสินค้าต่อไปได้ ไม่ขาดทุนจนต้องปิดกิจการ หรือหยุดผลิตจนทำให้เกิดปัญหาสินค้าขาดแคลน และผู้บริโภคก็จะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด รวมถึงจะขอความร่วมมือห้างค้าปลีกค้าส่ง ห้างสรรพสินค้าต่างๆ จัดโปรโมชันลดราคาขายสินค้าหมุนเวียนรายการสินค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยลดค่าครองชีพประชาชนด้วย

สำหรับสินค้าทั้ง 18 หมวด ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, หมวดอาหารสด (ไข่ไก่ เนื้อสัตว์), อาหารกระป๋อง, ข้าวสารถุง, ซอสปรุงรส, น้ำมันพืช, น้ำอัดลม, นมและผลิตภัณฑ์จากนม, เครื่องใช้ไฟฟ้า, ผลิตภัณฑ์ซักล้าง, ปุ๋ย, ยาฆ่าแมลง, อาหารสัตว์, เหล็ก, ปูนซีเมนต์, กระดาษ, ยา, เวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ และบริการผ่านห้างค้าปลีก-ส่ง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *