สิ้น แม่คำปุน ศรีใส ศิลปินแห่งชาติ ผู้สืบทอดศิลปะการทอผ้าไหมอีสาน สิริอายุ 91 ปี 

Author:

สิ้น แม่คำปุน ศรีใส ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ผู้สืบทอดศิลปะการทอผ้าไหมอีสาน สิริอายุ 91 ปี ม.ขอนแก่น เชิดชู ศิลปินมรดกอีสาน

วันที่ 16 ก.ค.2567 นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า นางคำปุน ศรีใส ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ทอผ้า) พ.ศ.2561 ถึงแก่กรรมอย่างสงบ เมื่อวันที่ 14 ก.ค.2567 สิริอายุ 91 ปี

โดยทายาทแจ้งว่ามีกำหนดการบำเพ็ญกุศล พิธีสวดพระอภิธรรมระหว่างวันที่ 14-23 ก.ค.2567 สวดพระอภิธรรม เวลา 19.00 น. ณ บ้านคำปุน อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี โดยกำหนดพิธีพระราชทานเพลิง ในวันที่ 24 ก.ค.2567 เวลา 16.00 น. ณ เมรุชั่วคราว วัดศรีอุบลรัตนาราม จังหวัดอุบลราชธานี

 

ในการนี้ นางนวลพรรณ ล่ำซำ ประธานกรรมการกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม มอบหมายให้กองกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม โดยกลุ่มสวัสดิการศิลปินแห่งชาติ ดำเนินการจัดสวัสดิการช่วยเหลือ ดังนี้ มอบเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมการบำเพ็ญกุศลศพ 20,000 บาท ค่าเครื่องเคารพศพ 3,000 บาท และค่าจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาท ด้วย

สำหรับประวัติของ นางคำปุน ศรีใส เกิดเมื่อวันที่ 5 ม.ค.พ.ศ.2476 ณ อ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี จบการศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนสามัคคีวัฒนา จ.อุบลราชธานี

แม่คำปุน ได้รับการสืบทอดศิลปะการทอผ้าไหมจากบรรพบุรุษตั้งแต่วัยเยาว์ ทั้งการทอผ้าไหมสีต่างๆ ผ้าไหมมัดหมี่ชนิด 2 ตะกอ 3 ตะกอ และ 4 ตะกอ รวมถึงผ้าไหมยกเงินผ้าไหมยกทอง ทั้งยังได้พัฒนาการทอผ้าไหมให้มีลวดลายวิจิตรพิสดาร โดยยึดรากฐานการทอผ้าอีสาน คือ หมี่ ขิด ยก และ จก เป็นพื้นฐาน และพัฒนาผ้าไหมให้มีลวดลายหลากหลายยิ่งขึ้น

ผ้าที่มีชื่อเสียงของบ้านคำปุนคือ ผ้าไหมมัดหมี่ผสม การจก (การปัก) ด้วยไหมสีต่างๆ มีทั้งไหมเงินไหมคำลงบนผืนลายผ้า เพื่อให้เกิดแสงเลื่อมพรายเมื่อต้องแสงไฟ ช่วยให้ผ้ามีความงดงามวิจิตรตระการตามากขึ้น อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะอันโดดเด่นของผ้า

จากความคิด ปรัชญา และความสามารถในการสร้างสรรค์งานฝีมือด้วยลวดลายที่เต็มไปด้วยศิลปะ ตลอดจนกรรมวิธีในการทอ การให้สีผ้าและการเลือกวัสดุที่มีคุณภาพ ที่มีความละเอียดประณีตในทุกขั้นตอน จึงทำให้ผ้าทอของนางคำปุนได้รับความสนใจจากบุคคลผู้มีชื่อเสียงของประเทศนําไปใช้ในพิธีการต่างๆ อยู่เสมอ เช่น ในการหมั้น การเข้าเฝ้าฯ เป็นต้น และยังได้ใช้เป็นเครื่องแต่งกายของตัวเอกในภาพยนตร์ เรื่อง “ตำนานสมเด็จพระนเรศวร”

 

รางวัลที่ได้รับ เช่น ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาทัศนศิลป์ (ศิลปหัตถกรรม เครื่องถักทอ) จากคณะกรรมกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2537 รางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินมรดกอีสาน สาขาทัศนศิลป์ (หัตถกรรมผ้าทอ) ประจำปีพุทธศักราช 2558 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นแม่คำปุน จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ทอผ้า) พ.ศ.2561

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *